ความเป็นมา
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมี พระราชดำรัสชี้แนะแก่ พสกนิกรชาวไทยมานานกว่า30ปี ดังจะเห็นได้ว่า ปรากฏความหมายเป็นเชิงนัยเป็นครั้งแรกใน พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี2517ที่พระองค์ได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนา บนหลักแนวคิดพึ่งตนเอง เพื่อให้เกิดความพอมี พอกิน พอใช้ของคนส่วนใหญ่ โดยใช้หลักความพอประมาณ การคำนึงถึงการมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และทรงเตือนสติ ประชาชนคนไทยไม่ให้ประมาท ตระหนักถึงการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชา และการมีคุณธรรมเป็นกรอบในการ ปฏิบัติและการดำรงชีวิต
ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าใจถึงผลจากการพัฒนา ที่ไม่คำนึงถึงระดับความเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ พึ่งพิงความรู้ เงินลงทุน จากภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยไม่ได้สร้างความ มั่นคงและเข้มแข็ง หรือสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีภายในประเทศ ให้สามารถพร้อมรับความเสี่ยงจากความผันผวนของปัจจัยภายในและภายนอก จนเกิด วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย
รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดการพัฒนาที่ ยั่งยืนในสังคมไทยอย่างเป็นระบบ ด้วยการกำหนดนโยบาย ด้านการศึกษา โดยนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ใช้คุณธรรม เป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่าง สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันทางศาสนา ให้มี ส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ทักษะ และเจตคติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างสมดุล และยั่งยืน
วัตถุประสงค์
เพื่อให้สถานศึกษานำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และการบริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติในทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล เกิดการปรับเปลี่ยน กระบวนทัศน์ ในการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างต่อเนื่อง
วิสัยทัศน์
เป้าหมาย
วิสัยทัศน์
กระทรวงศึกษาธิการมุ่งพัฒนาสถานศึกษาในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไป จัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล ส่งผลสู่การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของผู้เรียน ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างต่อเนื่อง
เป้าหมาย
ระยะที่ 1 ปี 2550
กำหนด ให้มีสถานศึกษาที่สามารถเป็นแบบอย่าง ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง ไม่ต่ำกว่า จำนวน 80 แห่ง
ระยะที่ 2 ปี 2551 - 2552
พัฒนา และขยายเครือข่ายสถานศึกษาที่เป็นแบบอย่าง ในการจัดกระบวนการเรียน การสอนและการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง ทุกจังหวัดเป็น จำนวน 800 แห่ง
ระยะที่ 3 ปี 2553 - 2554
พัฒนา ให้สถานศึกษาสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละ สถานศึกษาได้ครบทุกแห่งทั่วประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น